เด็กรุ่นใหม่ VS องค์กร ใครกันแน่ที่ต้องปรับตัว ?

  • 09 ส.ค. 2567
  • 10691
หางาน,สมัครงาน,งาน,เด็กรุ่นใหม่ VS องค์กร ใครกันแน่ที่ต้องปรับตัว ?

ณ ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่หรือที่เราเรียกกันว่าเด็ก Gen Y กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน วัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบเก่าที่ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอาจไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไร จึงทำให้เด็ก Gen นี้โดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนงานบ่อยและถูกมองว่าเลือกงาน

ทั้งนี้ หากมองในทางตรงข้าม เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยน สิ่งต่างๆ ก็ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับกาลเวลา แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างยืนยันว่ามีการปรับตัวแล้ว ปัญหาการเปลี่ยนงานบ่อยนี้ก็ยังไม่หายไป ก็ย่อมแสดงว่ายังไม่ได้มีการปรับแต่อย่างใด

 

 

โอกาสพิเศษในครั้งนี้ JOBBKK ก็ได้สัมภาษณ์ ดร.ชิษณุพงศ์ ศิริโชตินิศากร หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการโรงแรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นผู้เชี่ยวชาญประเทศไทยทางด้านการบริการอาหารเครื่องดื่ม ประธานอาเซี่ยนเรื่องการบริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงกรรมการตัดสินในระดับนานาชาติทางด้านโรงแรม ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้มอบความรู้ให้กับเด็กยุคใหม่ก่อนที่พวกเขาจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็มีความคิดเห็นและข้อคิดดีๆ มาฝากถึงน้องๆ Gen Y รวมถึงองค์กรที่กำลังจะต้องรับ Gen Y เข้าไปทำงาน และบทสัมภาษณ์นี้ก็จะพบคำตอบอีกด้วยว่า ใครกันแน่ที่ต้องปรับตัว ?

 

 

 

ลักษณะของ Gen Y

 

"เขาเกิดมาพร้อมเทคโนโลยี ทำให้เขาเข้าถึงความรู้ อาจจะได้มากกว่าคนในยุคก่อน"

 

 

ยุคสมัยที่เปลี่ยน สังคมที่เปลี่ยน การเรียนรู้ที่เปลี่ยน เด็กในยุค Gen Y จะเริ่มใช้เทคโนโลยีในการหาข้อมูล หาความรู้ ความจริง หรือหาในสิ่งที่เขาอยากจะรู้ เด็กบางคนอาจจะใช้เทคโนโลยีในการแสวงหาความรู้มากกว่าห้องเรียนในยุคก่อน เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะ Creative  ไม่ได้เชื่อคนง่ายๆ ค่อนข้างจะเป็น individualism ก็คือเชื่อมั่นในตัวเองและโลกส่วนตัวสูง เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองและสิ่งที่มีอยู่ในมือ Gen Y จึงค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวเองสูงกว่าในยุคก่อน

 

 

ข้อดี – ข้อเสียของ Gen Y

 

"เขาจะหาความรู้ได้เร็ว แต่ความรู้ที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เข้าใจผิดไปจากสิ่งที่ควรจะได้รับ"

สิ่งที่เขาแสวงหาในบางข้อมูลอาจจะผิดและมีการบิดเบี้ยวของข้อมูล ดังนั้นเวลาได้ข้อมูลบางอย่างมา เด็กที่มีความสามารถในการกลั่นกรอง มีความสามารถในการแสวงหาความจริง ว่ามันจริงหรือเปล่า ก็จะได้ข้อมูลที่มันค่อนข้างจะมีประโยชน์ เด็กๆ ควรจะต้องมีเรื่องการกลั่นกรองความรู้ครับ

 

 

สิ่งที่ Gen Y ควรปรับ

 

"สิ่งแรกๆ ที่ต้องปรับคือต้องอยู่กับตัวเองบ้าง แทนที่จะอยู่กับโลก Social ทั้งหลาย"

 

 

แล้วก็อาจจะต้องเพิ่มเรื่องศักยภาพในการคิดวิเคราะห์และกลั่นกรองข้อมูล รวมไปถึงกระบวนการคิดที่ Gen อื่นๆ วิเคราะห์ต้องเอามาเพิ่มในเด็ก Gen นี้ เพราะว่าเขาจะเป็นพวก Creative  จนบางทีเราก็ตามไม่ทัน และมากกว่านั้นก็คือต้องปรับตัวเองเพื่อที่จะอยู่กับความจริงที่เราเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วก็เรื่องสังคมเขาก็จะขาด เพราะว่าเขาจะเชื่อตัวเอง เขาก็จะค่อนข้างตัดตัวเองออกจากสังคมภายนอก ถ้าจะเป็นสังคมก็จะเป็นสังคมเพื่อน แต่สังคมผู้ใหญ่หรือสูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องการทำงานก็จะเป็นผู้บังคับบัญชาอาจจะขาดการยอมรับ เด็ก Gen นี้จะต้องปรับตัวในเรื่องการเชื่อฟังผู้ใหญ่บ้าง หรืออาจจะต้องเอาความคิดคนอื่นมาใช้ในการปรับมุมมอง ความคิดและทัศนคติ

 

 

การเรียนการสอน Gen Y

 

"ห้องเรียนกลายเป็นสิ่งที่จะต้องปรับ เพราะว่ามันแคบกว่าเด็กยุคนี้มาก"

 

 

 

ทุกวันนี้เราปรับเยอะมากนะครับ ความรู้ที่เราใช้ในการเรียนในห้อง เมื่อก่อนเราก็ต้องใช้ PowerPoint เยอะ เอกสารประกอบการสอนเยอะ แต่ปัจจุบันเราก็กลายเป็น Project  base บ้าง ให้เด็กลงพื้นที่ ลงไปในชุมชน ใช้เป็น Assignment บ้าง ใช้การที่เขา Discussion ใช้ในสิ่งที่เขาอยากจะรู้ บางทีเรื่องบางเรื่องที่เขาอยากจะรู้ เราก็พยายามให้เขาหาเอง เขาอยากรู้อะไรเขาก็จะมาบอกเรา และเราก็ไม่ได้มีฐานะเป็นผู้สอนอย่างเดียวแล้วครับ เราจะเป็นผู้ Guideline แล้วสุดท้ายเขาก็จะไปแสวงหาความรู้จากสิ่งที่เขาอยากจะรู้ แล้วก็กลับมาหาเราในห้องเรียน แล้วเราก็มายืนยันในสิ่งที่เขารู้ว่าอันนั้นมันจริงแค่ไหน หรือว่าเขาควรจะปรับและเข้าใจในบางเรื่องที่มันเป็นอย่างไร ดังนั้นการเรียนการสอนในห้องเรียนจึงต้องปรับรูปแบบไปจากเดิมมากขึ้นครับ

 

 

เมื่อ Gen Y เข้ามาทำงานในองค์กรควรปรับเปลี่ยนการ Training อย่างไร

 

"ดูศักยภาพในแต่ละด้านที่เด็กมี แล้วพัฒนาให้เขาไปถึงจุดที่เรียกว่า ‘เต็มศักยภาพ’"

 

 

การ Training ในยุคนี้ต้องเปลี่ยนรูปแบบครับ ไม่ได้เป็นห้องเรียนเหมือนเดิม เดี๋ยวนี้องค์กรสมัยใหม่จะใช้การ Training หรือพัฒนาคนตามศักยภาพ หรือเรียกว่า Talent Management ก็คือ เรามองว่าเด็กมีศักยภาพด้านไหน ควรจะพัฒนาด้านไหน เพราะเด็กใน Gen นี้จะมีศักยภาพในแต่ละด้านไม่เท่ากัน ดังนั้นเวลาที่เราจะพัฒนา แทนที่จะเอาทุกคนมาในห้องๆ หนึ่งพร้อมๆ กัน ก็ต้องมาดูรายคนว่าแต่ละคนมีศักยภาพทางด้านไหน เพื่อจะพัฒนาเขาและนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Talent ของเขาหรือสิ่งที่เขามีภายใน ต้องดึงเขาออกมาให้ได้ครับ แล้วผมเชื่อว่าองค์กรจะได้ประสิทธิภาพเต็มที่ของคนๆ นั้น จากรูปแบบเดิมๆ ต้องเปลี่ยนมาดูรายบุคคล ลงไปใน Detail เปลี่ยนรูปแบบเป็น On The Job หรือมอบหมายเป็น Project แล้วก็ดูว่าเขามีศักยภาพไหม หรือต้องมีการ Consult  กันเป็นเรื่องเป็นราว พูดคุยกันเป็นรายบุคคล ให้เวลาและคุยกับเขามากขึ้น แล้วจะทราบว่าเขาต้องการอะไร มากกว่าที่จะดึงทุกคนมาอยู่ในห้องแล้วอบรมเป็น Pattern แบบนั้นทุกคนก็จะเบื่อ เพราะวันนี้คนกลัวกับการ Training  ฝรั่งเขาจะไม่กลัว แต่คนไทยจะกลัวเรื่องการเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยม ต้องมาอยู่ในห้องเรียนอีกแล้วหรือ ถ้าเราดูเขาว่าเขาชอบอะไร แล้วพัฒนาตรงจุดที่เขาต้องการ ผมว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรและตัวเด็ก หรือคนใน Gen นี้มากกว่าครับ

 

 

วัฒนธรรมเก่าขององค์กรที่ไม่สอดคล้องกับ Gen Y

 

"ถ้าบอกให้เข้าเวลานี้ เขาจะไม่อยากเข้างานเวลานี้

อยากให้เขาแต่งตัวแบบนี้ เขาก็จะไม่อยากแต่งตัวแบบนี้"

วัฒนธรรมองค์กรที่ควรจะปรับเปลี่ยนแรกๆ ก็เรื่องเวลา คือแทนที่จะไปเน้นเรื่อง Timing เรื่อง Schedule ก็มาสนใจเรื่อง Productivity เรื่อง Outcome ที่ออกมามากกว่า เพราะเดิมเราจะไปสนใจว่าเด็กจะต้องทำงานตามเวลา แต่องค์กรในยุคใหม่จะต้องมาเน้นเรื่องของ Outcome ที่ต้องการจากเด็กในยุคนี้ ถ้าเราห่วงเรื่องช่วงเวลา เด็กจะรู้สึกถูกบังคับแล้วเขาก็จะไม่ Creative คิดงานใหม่ๆ หรือทำงานตาม Project ที่เราต้องการ แต่ว่าองค์กรสมัยใหม่ก็จะเริ่มปรับตัวเองในเรื่องเวลาที่จะไม่ได้ Fix ต้องเข้าตามช่วงเวลานี้เท่านั้น ดังนั้นเรื่องการที่จะไปทำงานภายนอก ออกไปอยู่ที่ไหนก็ได้ เริ่มมีการ Co-working Space เกิดขึ้น อยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้เดี๋ยวคุณส่งงานให้เราได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในองค์กร เพราะว่าวัฒนธรรมเก่าๆ ที่อยู่ในองค์กรก็จะไม่สามารถควบคุมงานของเด็กกลุ่มนี้ได้ครับ

 

 

ทักษะของ “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” ที่ควรนำมาผสมผสาน

 

"ถ้านำ ‘ความคิดเชิงวิเคราะห์’ ของคนรุ่นเก่า มารวมกับ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ของคนรุ่นใหม่

‘Productivity’ ของงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ต้องบอกข้อดีของทั้ง 2 Gen ก่อนนะครับ ข้อดีของคนยุคก่อนจะมีความละเอียดรอบคอบ มีการคิดเชิงวิเคราะห์ หาเหตุผล แล้วก็ความสม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นเด็กในยุคใหม่ ก็จะเป็นพวกที่สร้างสรรค์แล้วก็จะหาหนทางใหม่ๆ เพื่อสร้างงาน เมื่อก่อนจะเน้นที่ Process แต่คนยุคใหม่จะเน้นที่ Outcome  ดังนั้นถ้าจับทั้ง 2 ฝั่งมารวมกัน ก็น่าจะสร้างงานที่มีทั้งความละเอียด รอบคอบ แล้วก็มีความสร้างสรรค์ในผลงาน งานก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของคนทั้ง 2 Gen เข้าด้วยกัน คนในยุคก่อนอาจจะขาดเรื่อง Creative อาจจะยึดติดกับรูปแบบขององค์กรเดิมๆ งานเดิมๆ ที่เคยทำ การเปลี่ยนแปลงก็จะยากกับคนในยุคก่อน แต่เด็กยุคใหม่จะไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ชอบอะไรใหม่ๆ ชอบอะไรที่ Create คนรุ่นเก่าก็ตามคนรุ่นใหม่ไม่ทัน ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไปเร็วเกินที่องค์กรจะตามไปทัน ถ้าจับมารวมกันก็จะเพิ่ม Productivity ของงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

 

 

ฝากถึงองค์กร

 

"ถ้าห่วงเรื่อง ‘Process’  มากๆ เราจะไม่ได้ ‘Outcome’ จากเด็ก Gen นี้"

เขาจะมีโลกส่วนตัวของเขาสูงมาก องค์กรเองจะต้องปรับตัว จะต้องเรียนรู้พฤติกรรมของเด็กมากขึ้น คนในที่ทำงานก็ต้องเรียนรู้มากขึ้น ถ้าเราคิดถึงประสิทธิภาพของงาน เราก็จะลืมเรื่องพฤติกรรมบางอย่างของเด็กใน Gen นี้ไป เพราะบางทีก็จะไปมองเรื่องพฤติกรรมมากเกินไป เขาแต่งตัวไม่เรียบร้อยแต่เขาทำงานดี ผมก็อยากให้องค์กรเริ่มหันมามองเรื่อง Outcome มากกว่าตัว Process  ผมเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้เขาก็มีดีในเรื่องของการทำงานระดับนึง แต่ว่าต้องใจเย็นๆ ครับ จะต้องเรียนรู้เขา แล้วก็ Motivate เขา เพราะถ้าไม่สามารถจะควบคุมโดยการ Motivate เขาได้ แต่ใช้กฎระเบียบในการควบคุม ผมว่าค่อนข้างจะยาก แล้วจะเกิดการเปลี่ยนงาน สุดท้ายแล้วมันก็จะสร้างผลเสียกับองค์กรในการที่จะต้องมานั่ง Training พนักงานที่จะเข้ามาใหม่ ดังนั้นองค์กรใหม่ๆ หรือองค์กรปัจจุบัน อยากให้เรียนรู้และเข้าใจเด็ก พยายามที่จะใช้เขาให้ถูกกับศักยภาพและความสามารถของเขา แล้วก็เชื่อมั่นว่าเขาจะทำงานให้องค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานและสร้างศักยภาพขององค์กรให้เป็นที่รู้จักหรือว่าสร้างชื่อเสียง ผมเชื่อว่าเด็กใน Gen นี้ก็มีศักยภาพ ลองเปิดใจรับเด็กกลุ่มนี้ดูครับ

 

 

ฝากถึงน้องๆ Gen Y ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

 

"ไม่อยากให้เลือกงาน อยากให้ลองทำงานเพื่อหาประสบการณ์ แล้วหาตัวเองว่าชอบอะไร"

 

 

เด็กในยุคนี้จะมีปัญหาเรื่องการที่เขาจะเลือกงาน เขาจะทำในสิ่งที่เขาชอบ แต่เขาจะไม่ชอบที่จะไปเรียนรู้งาน เพราะเด็กส่วนใหญ่จะคิดว่า จะต้องทำงานในสิ่งที่ชอบเท่านั้น เขาจะลืมไปว่า บางทีประสบการณ์ในการทำงานก็เป็นเรื่องสำคัญที่บางองค์กรต้องการ เพราะถ้าคุณไม่มีประสบการณ์ในการทำงานเลย ก็จะเป็นข้อเสียเปรียบเวลาที่เราเปรียบเทียบกับคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานแล้ว ที่สำคัญก็คือ สร้างสรรค์ได้แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง มีความละเอียดรอบคอบ แล้วก็นึกถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมในเวลาทำงาน ว่าแต่ละองค์กรมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่แตกต่าง เด็กเองต้องมีสิ่งหนึ่งที่มากกว่าคนในยุคอื่น ก็จะเป็นเรื่องการเข้าสังคม การเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมองค์กร หรือแม้กระทั่งการที่จะต้องเรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกันกับคนที่ไม่ได้เหมือนตัวเอง ที่สำคัญมากกว่านั้นอีกก็คือ เรื่องการนำความรู้ที่ตัวเองมีไปปรับใช้กับการทำงานจริงๆ อันนี้ฝากกับเด็กๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตมากขึ้น อยากให้เขาอยู่กับตัวเอง ทำงานกับคนในองค์กรได้ แล้วก็เรียนรู้และปรับตัวครับ

 

 

JOBBKK Tips :  การทำงานต้องมาจากการร่วมกันทำงานเป็นทีม โดยนำความสามารถที่ทุกคนในทีมมีทั้งหมดมารวมไว้ในงานนั้นๆ แต่ทีมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าคนในทีมไม่ปรับตัวเข้าหากัน หรือการปรับตัวนั้นเกิดขึ้นเฉพาะกับแค่บางคนก็คงไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้น ทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะอยู่ใน Gen ไหนก็จะต้องปรับตัวเข้าหากันตลอดเวลา เพื่อให้ทีมสามารถสร้างงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top